วันที่
16 มิ.ย. 2567
หมวดหมู่
Health & Care

ภาวะไขมันในเลือดสูง ภัยเงียบที่อาจคร่าชีวิตของคุณได้ (Dyslipidemia)
บทความ โดย นพ. ธีวินท์ งามศรีขำ อายุรแพทย์


ภาวะไขมันในเลือดสูง (Dyslipidemia ) หมายถึง ภาวะที่ไขมัน คลอเรสเตอรอล หรือไตรกลีเซอไรด์ สูงกว่าระดับปกติ โรคนี้เป็นภัยเงียบ เนื่องจากในระยะแรก มักจะไม่มีอาการใด ๆ โรคนี้เป็นภาวะที่พบบ่อย ในระยะยาว อาจทำให้เกิดภาวะแทรกซ้อน อาทิ ภาวะหลอดเลือดแดงอุดตัน เส้นเลือดหัวใจตีบ เส้นเลือดสมองตีบ และ อาจเสียชีวิตได้
ชนิดของโคเลสเตอรอลและสารประเภทไขมัน
โคเลสเตอรอลเป็นสารที่ไม่ละลายในน้ำเลือด ดังนั้นการไหลเวียนของโคเลสเตอรอลไปยังอวัยวะหรือส่วนต่างๆ ของร่างกายจำเป็นต้องอาศัยสารชื่อ "ไลโพโปรตีน" (lipoprotein) ซึ่ง lipoprotein ในร่างกายมีอย่างน้อย 6 ชนิดขึ้นกับขนาด ลักษณะ และหน้าที่ในการขนส่งสารประเภทไขมัน แต่ชนิดที่ควรทราบได้แก่
Low-density lipoprotein (LDL) "ไขมันชนิดเลว"
ซึ่งมีหน้าที่หลักในการขนส่งโคเลสเตอรอลและสารประเภทไขมันอื่นๆ ในร่างกาย การมีระดับ LDL ในเลือดที่สูงแสดงให้เห็นถึงการมีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดที่สูงและสัมพันธ์กับการเกิดโรคที่คุ้นหูกันดี ได้แก่ โรคกล้ามเนื้อหัวใจตายเฉียบพลัน (heart attack) โรคหลอดเลือดสมอง (stroke) และโรคหลอดเลือดแดงส่วนปลายตีบ (peripheral arterial disease)
High-density lipoprotein (HDL) "ไขมันชนิดดี"
มีหน้าที่ในการขนส่งโคเลสเตอรอลจากกระแสเลือดและอวัยวะต่างๆ กลับไปยังตับเพื่อกำจัดออกจากร่างกายทำให้ปริมาณโคเลสเตอรอลในกระแสเลือดลดลง นอกจากนี้ข้อมูลจากการศึกษายังชี้ให้เห็นว่าหากร่างกายมีระดับ HDL ที่ต่ำจะมีความสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดหัวใจได้เช่นกัน
ไตรกลีเซอไรด์ (triglyceride)
ซึ่งร่างกายมนุษย์ใช้เป็นแหล่งพลังงานและเป็นหนึ่งในรูปแบบการเก็บสะสมไขมันส่วนเกินจากอาหารที่รับประทานเข้าไป การมีระดับไตรกลีเซอไรด์ในเลือดสูงยังสัมพันธ์กับการเกิดโรคหลอดเลือดเช่นเดียวกับการมีระดับ LDL cholesterol ที่สูง
ระดับโคเลสเตอรอลทั้งหมดในร่างกาย (total cholesterol หรือ TC) เป็นผลรวมของปริมาณ LDL, HDL และ ไตรกลีเซอไรด์
ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองภาวะไขมันในเลือดสูง เมื่อไร ?
หากมีการตรวจพบได้เร็วจะเป็นการช่วยให้การเริ่มการรักษามีความเหมาะสมซึ่งจะช่วยลดโอกาสในการเกิดโรคหลอดเลือดได้มาก แต่ปัญหาที่มักพบคือการละเลยไม่เข้ารับการตรวจคัดกรอง
จากแนวทางการในดูแลผู้ที่มีระดับโคเลสเตอรอลในเลือดสูงในปัจจุบันมีคำแนะนำเกี่ยวกับผู้ที่ควรเข้ารับการตรวจคัดกรอง ได้แก่
- ผู้ชาย อายุ > 35 ปี
- ผู้ชาย อายุ 20 - 35 ปี ที่มีโรคหัวใจหรือความเสี่ยงต่อการเกิดโรคหัวใจ
- ความดันโลหิตสูง
- คนในครอบครัวหรือเครือญาติลำดับติดกันเป็นโรคหัวใจมาก่อน (ผู้ชาย เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 55 ปี, ผู้หญิง เป็นโรคหัวใจก่อนอายุ 65 ปี)
- มีประวัติหลอดเลือดแข็ง (atherosclerosis)
- สูบบุหรี่
- เป็นโรคเบาหวาน
- มีภาวะน้ำหนักเกิน (overweight) หรือภาวะอ้วน (obesity)
- ไม่ออกกำลังกาย
ข้อควรปฏิบัติ สำหรับผู้มีภาวะไขมันในเลือดสูง
- จำกัด อาหารและเลือกรับประทานให้เหมาะสม อาทิ แนะนำให้จำกัด ปริมาณไขมันอิ่มตัวที่รับประทานให้น้อยกว่า ร้อยละ 7 ของพลังงานที่ได้รับในแต่ละวัน คนปกติ ควรรับประทานคลอเลสเตอรอล ไม่เกิน 300 มิลลิกรัมต่อวัน สามารถรับประทานไขมันอิ่มตัวได้ไม่เกิน 140 กิโลแคลอรี่ต่อวัน ลดอาหาร อาทิ เนื้อสัตว์ติดมัน เครื่องในสัตว์ หอยนางรม ปู ปลาหมึก น้ำมันมะพร้าว กะทิ เป็นต้น แนะนำ การปรุงอาหาร แบบ อบ นึ่ง ตุ๋น แทนการใช้น้ำมัน หากจำเป็นต้องใช้น้ำมัน ควรลดปริมาณให้น้อยลง หลีกเลี่ยง การใช้ น้ำมันปาล์ม น้ำมันมะพร้าว
- งดเครื่องดื่มแอลกอฮอล์
- งดสูบบุหรี่
- ควบคุมน้ำหนัก / ลดน้ำหนัก ให้อยู่ในเกณฑ์มาตรฐาน
- ออกกำลังกายสม่ำเสมอ อาทิ การวิ่ง เดินเร็ว ขี่จักรยาน ฯลฯ ครั้งละ 20-30 นาที สัปดาห์ละ 3-4 ครั้ง
Link : ไขมันตัวดีและตัวร้ายในตัวคุณ
https://youtu.be/nVI-2pAEEUw

Reference :
- คลังความรู้สุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข ความรู้สุขภาพ / โรคไม่ติดต่อเรื้อรัง High Cholesterol
http://healthydee.moph.go.th/view_article.php?id=1320ระดับไขมันในเลือดสูง
- กองโรคไม่ติดต่อ กระทรวงสาธารณสุข
http://www.thaincd.com/2016/media-detail.php?id=13986...
- ไขมันในเลือดสูง เสี่ยงโรคหัวใจและหลอดเลือด
https://www.siphhospital.com/.../article/share/dyslipidemia

ติดต่อสอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม
☎️038 - 488 - 777
ติดต่อ แผนกผู้ป่วยนอก ต่อ 101, 119
ทุกวัน เวลา 08.00 - 16.00 น.
Website : www.pattayamemorial.com
LINE Official : https://bit.ly/2SmVzUK
Facebook : https://bit.ly/2Sy23QT
Email : pmhospital@hotmail.com
#โรงพยาบาล #พัทยา #โปรโมชั่น #ไขมันในเลือดสูง #ไขมันชนิดดี #ไขมันชนิดเลว #ไตรกลีเซอไรด์ #triglyceride #โคเลสเตอรอล #ไขมัน #Dyslipidemia #Hospital #pattaya #พัทยาเมโมเรียล #โรงพยาบาลพัทยาเมโมเรียล #PattayaMemorial

บทความสุขภาพ
Blog Thumbnail

โรคเกาต์ (Gout) คืออะไร และ ปัจจัยที่ก่อให้เกิดโรคเกาต์

ข้อมูลและการรักษาโรคเกาต์ (Gout) เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจถึงการรักษาและการป้องกันที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านต่อ
Blog Thumbnail

โรคเอดส์ สามารถป้องกันได้โดยรับประทานยา (PrEP and PEP)

ข้อมูลและการรักษาโรคเอดส์ สามารถป้องกันได้โดยรับประทานยา (PrEP and PEP) เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจถึงการรักษาและการป้องกันที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านต่อ
Blog Thumbnail

ไวรัสเอชไอวี และโรคเอดส์ สามารถรักษาได้ (HIV infection , AIDS)

ข้อมูลและการรักษา ไวรัสเอชไอวี และโรคเอดส์ (HIV Infection, AIDS) เพื่อช่วยให้คุณเข้าใจถึงการรักษาและการป้องกันที่ถูกต้องอย่างมีประสิทธิภาพ

อ่านต่อ